วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

แก่นวิปัสสนาคืออะไร?

กถามุข ที่เขียนโดย ส.อภิรักษ์ ในหนังสือ "แนะแนวทางวิปัสสนา" ที่ผมอ่านนี้ สรุปได้ว่า แนวทางการปฏิบัติวิปัสสนามีดังนี้
 1.มหาสติปัฏฐานสูตร  เอกายโน อยัง ภิกขเว มัคโค  พระพุทธเจ้า ทรงตรัสสั่งสอนว่า การใช้ กาย เวทนา จิต ธรรม สำหรับเป็นฐานในการกำหนดสติ เป็นหนทางเพียงสายเดียวที่สามารถ ไปสู่นิพพาน เป็นทางพ้นทุกข์ เพราะเป็นการมุ่งกำจัดอภิชฌาและโทมนัส ความยินดียินร้าย ทำให้เบื่อหน่ายคลายกำหนัด ไม่มีอัตตา ตัวตนเราเขาอยู่ในใจอีกต่อไป เป็นการเห็นไตรลักษณ์ มี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา 
2.จากพุทธพจน์ยืนยันได้ว่า ถึงแม้ว่าจะเห็นไตรลักษณ์เพียงหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งเพียงข้อเดียว ก็เข้าถึงความบริสุทธิ์ได้ แต่ข้อสำคัญเราจะละทิ้งรูป นาม ไม่ได้เลย จะต้องเห็นความไม่เที่ยงของ กายเวทนา จิต ธรรม การเจริญสติปัฏฐานจะเห็นไม่เที่ยง
3.วิธีปฏิบัติอีกประการหนึ่ง คือ ในการพิจารณาให้...ยึดอารมณ์ปัจจุบัน ไม่เยื่อใยในรูปอดีต อย่าเพลิดเพลินในรูปอนาคต จงปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อสละ เพื่อปล่อยรูปปัจจุบันเถิด แม้
ทวารอื่นๆ ก็แก้อย่างนี้หมด...
4.ต้องไม่ให้มีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ วิเวก 3 อาวุธ 3
5.วิปัสสนา ต่างจากสมถะกรรมฐาน  สมถะเป็นวิธีสงบจิตให้อยู่กับอารมณ์เดียวเป็นการทำสมาธิล้วนๆ แต่วิปัสสนากรรมฐานเป็นการฝึกจิตให้เกิดปัญญา รู้เห็นตามความเป็นจริงของตัวเรา คือ รู้จัก นาม -รูป = ขันธ์ 5 ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นวิธี เห็นไตรลักษณ์ ละกิเลสให้หมด เป็นสมุจเฉทไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ดับเหตุคือกิเลส ดับชาติ คือขันธ์ 5 ไม่เกิดในที่ไหนๆอีกต่อไป
6.วิปัสสนากรรมฐานแบ่งเป็น 2 พวก คือสมถยานิก กับวิปัสสนายานิก พวกแรกเริ่มจากสมถกรรมฐานก่อน แล้วมาวิปัสสนากรรมฐานที่หลัง พวกหลังดูนาม รูป ดูขันธ์ 5 ล้วนๆเรียกว่าเลือกกรรมฐานที่เป็นปัจจัยแก่ปัญญา มีอิริยาบถ 4 อิริยาบทย่อย ธาตุ 4 เป็นต้น ก็ได้
แต่ข้อที่สำคัญคือ ต้องทำตามวิธีของท่านทุกๆข้อ
7.ข้อนี้สำคัญ เพราะเป็นข้อห่วงใยของท่าน ส.อภิรักษ์ โดยเฉพาะ ท่านบอกว่าในสติปัฏฐานมีวิธีปฏิบัติไม่เหมือนกัน อานาปานสติก็ใส่ใจอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกับอิริยาบถ เพราะอารมณ์ต่างกัน ฉะนั้นสติปัฏฐานจึงขึ้นอยู่กับอุบายความเข้าใจของผู้ทำ ถ้าไม่เข้าใจก็จะไม่เป็นวิปัสสนาเลย จะกลายเป็นสมาธิและหลงทางได้ ท่านยังบอกอีกว่า มรรค 8 เป็นทางเดินของจิตใจ ซึ่งใจของสัตว์ทั้งหลายไม่มีรูปร่างหน้าตาจะให้จับต้องได้ (ผมเข้าใจว่าท่าน ส.หมายถึงจิตใจเป็น "นาม" ครับ) และกิเลสเครื่องเศร้าหมองก็ไม่มีรูปร่างให้จับต้องได้ ตลอดจน ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่รู้จักหน้าตาของ จิต กิเลส ปัญญา สติ ฯลฯ ธรรมะเหล่านี้ เราจะฝึกจิต อบรมจิต ได้อย่างไร!!!
เราเป็นคนโง่ หลงอวิชชาอยู่เต็มที่ จะไม่อาศัยแผนที่ที่พระพุทธองค์ตลอดทั้งสาวกได้วางเอาไว้ให้แล้ว เราจะถึงจุดหมายที่ไม่เคยไปได้อย่างไร?
ท่าน ส.อภิรักษ์ยังมีคำถามอีกหลายข้อครับ
และท่านบอกย้ำไว้ว่า



แล้ว ศีล สมาธิ ปัญญาที่ทรงประสงค์คืออะไร

คราวหน้าเรามาพิจารณาไปด้วยกันครับ
สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
ดร.ประสิทธิ์ คชโคตร
17 กรกฎาคม 2560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น